หน่วยรับเข้าหน่วยส่งออกข้อมูล

              หน่วยรับข้อมูล (Input Unit) เป็นอุปกรณ์ที่ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางระหว่างคอมพิวเตอร์กับผู้ใช้โดยรับคำสั่งหรือข้อมูลจากผู้ใช้แล้วแปลงให้อยู่ในรูปแบบสัญญาณไฟฟ้าที่เครื่องคอมพิวเตอร์สามารถเข้าใจก่อนที่จะประมวลผลอุปกรณ์ที่ทำหน้าที่เป็นหน่วยรับข้อมูล  มีดังนี้

              1.คีย์บอร์ด (keyboard) เป็นอุปกรณ์ในการรับข้อมูลโดยการกดแป้นพิมพ์  มีลักษณะคล้ายแป้นพิมพ์ ของเครื่องพิมพ์ดีด มีจำนวนแป้น 84 - 105 แป้น ขึ้นอยู่กับแป้นที่เป็นกลุ่มตัวเลข (Numeric keypad) กลุ่มฟังก์ชัน (Function keys) กลุ่มแป้นพิเศษ (Special-purpose keys) กลุ่มแป้นตัวอักษร (Typewriter keys) หรือกลุ่มแป้นควบคุมอื่น ๆ (Control keys) ซึ่งการสั่งงานคอมพิวเตอร์และการทำงานหลายๆ อย่างจำเป็นต้องใช้แป้นพิมพ์เป็นหลัก

                2. เมาส์ (mouse) เมาส์เป็นอุปกรณ์รับข้อมูลอีกชนิดหนึ่งใช้สำหรับเลือกคำสั่งหรือสิ่งต่างๆ ที่อยู่บนจอภาพโดยที่เมาส์จะแบ่งได้เป็นแบบ 2 ปุ่ม และแบบ 3 ปุ่ม โดยจะเพิ่มปุ่มลูกล้อหมุนได้อยู่ตรงกลาง  เรียก วีลเมาส์ (wheel mouse)  ปุ่มลูกล้อนี้จะใช้สำหรับการเลื่อนจอภาพเหมือนการเลื่อนสกอลบาร์ (Scroll bar)   ผู้ใช้สามารถบังคับตัวชี้ตำแหน่งของเมาส์เพื่อควบคุมตัวชี้ตำแหน่ง (Pointer) ไปมาบนจอภาพได้  สามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ

                2.1 เมาส์แบบกลไก (Mechanical) โดยจะใช้ลูกบอลกลมๆ บรรจุอยู่ภายในตัวเมาส์ ทำหน้าที่คอยเปลี่ยนการลากเมาส์ให้เป็นการหมุนล้อกลไกภายในตัวเมาส์ เพื่อแปลงเป็นสัญญาณไฟฟ้าและส่งมาให้ซีพียูประมวลผลต่อไป


                2.2 เมาส์แบบใช้แสง (Optical)   เป็นแบบที่ใช้แสงส่องลงไปที่พื้นแล้วสะท้อนกลับมาที่ตัวรับ       เพื่อวัดการเลื่อนตำแหน่ง ถ้าเป็นรุ่นใหม่ๆ จะสามารถใช้กับพื้นผิวได้แทบทุกแบบ


               



                 3. ลูกกลมควบคุม (track ball) เป็นอุปกรณ์ที่มีลูกบอลขนาดเล็กวางอยู่ด้านบนผู้ใช้สามารถบังคับลูกบอลให้หมุนไปมาเพื่อควบคุมตัวชี้ตำแหน่งบนจอภาพ นิยมสร้างไว้กับเครื่องโน๊ตบุ๊ก  เพราะสะดวกต่อการใช้งาน และใช้พื้นที่น้อย



                   4. แท่งชี้ควบคุม (track point) เป็นแท่งพลาสติกเล็กๆ อยู่ตรงกลางแป้นพิมพ์ ผู้ใช้บังคับแท่งชี้ควบคุมในการสั่งงาน



                    5. สแกนเนอร์ (scanner)  คืออุปกรณ์จับภาพและเปลี่ยนแปลงภาพ จากรูปแบบของ    แอนาลอกเป็นดิจิตอล  ซึ่งคอมพิวเตอร์ สามารถแสดง  เรียบเรียง  เก็บรักษาและผลิตออกมาได้  ภาพนั้นอาจจะเป็นรูปถ่าย  ข้อความ  ภาพวาด หรือแม้แต่วัตถุสามมิติ   สแกนเนอร์แบ่งเป็น 3 ประเภทหลัก ๆ คือ

5.1 สแกนเนอร์มือถือ (Hand-Held Scanner) มีขนาดเล็ก ราคาไม่แพงนัก เก็บภาพขนาดเล็ก ซึ่งไม่ต้องการความละเอียดมากนักได้ เช่น โลโก้ ลายเซ็น เป็นต้น

5.2 สแกนเนอร์ดึงกระดาษ (Sheet-Feed Scanner) เป็นสแกนเนอร์ที่ใหญ่กว่าสแกนเนอร์มือถือใช้หลักการดึงกระดาษขึ้นมาสแกนทีละแผ่น  แต่มีข้อจำกัดคือ ถ้าต้องการ สแกนภาพจากหนังสือที่เป็นรูปเล่มต้องฉีกกระดาษออกมาทีละแผ่นทำให้ไม่สะดวกในการสแกน คุณภาพที่ได้จาก สแกนเนอร์ประเภทนี้อยู่ในระดับปานกลาง

5.3 สแกนเนอร์แท่นเรียบ (Flatbed Scanner) เป็นสแกนเนอร์ที่มีกระจกใสไว้สำหรับวางภาพที่จะสแกน เหมือนเครื่องถ่ายเอกสาร คุณภาพของงานสแกนประเภทนี้ จะดีกว่า สแกนเนอร์แบบมือถือหรือสแกนเนอร์แบบดึงกระดาษ แต่ราคาก็จะสูงกว่าเช่นกัน



                       6. เครื่องอ่านบาร์โค้ด (barcode reader) มีหลักการทำงานคล้ายกับเครื่องแสกนเนอร์ โดยทำการส่งแสงเลเซอร์ไปยังบาร์โค้ด แล้วมีตัวอ่านการสะท้อนของแสงดังกล่าวที่ตัวอุปกรณ์ จากนั้นจะแปลงค่าที่อ่านได้เป็นตัวเลขที่คอมพิวเตอร์จะนำไปประมวลผลต่อไป นิยมใช้อ่านรหัสแท่งของสินค้า





                       7. อุปกรณ์สแกนลายนิ้วมือ (finger scan)   เป็นอุปกรณ์ที่ทำหน้าที่รับลายนิ้วมือเข้าสู่เครื่องคอมพิวเตอร์ นิยมใช้สำหรับการลงเวลามาและกลับของหน่วยงานต่างๆ





                       8. ไมโครโฟน(microphone) ทำหน้าที่รับข้อมูลเสียงเข้าสู่เครื่องคอมพิวเตอร์ นิยมใช้สำหรับการอัดเสียงพูด


                       9. กล้องเว็บแคม (webcam) ทำหน้าที่รับข้อมูลภาพและภาพเคลื่อนไหวเข้าสู่เครื่องคอมพิวเตอร์ โดยสามารถจับภาพเคลื่อนไหวของเราไปปรากฏในหน้าจอมอนิเตอร์ และสามารถส่งภาพเคลื่อนไหวนี้ผ่านระบบเครือข่ายเพื่อให้คนอีกฟากหนึ่งสามารถเห็นตัวเราเคลื่อนไหวได้เหมือนอยู่ต่อหน้า



                              10. เมาส์ปากกา (Tablet ) คือ จอคอมพิวเตอร์ที่มีปากกาเฉพาะ สามารถวาดรูปเสมือนวาดบนกระดาษได้อย่างง่ายดายโดยที่รูปจะแสดงบนหน้าจอคอมพิวเตอร์ โดยไม่ต้องใช้แสกนเนอร์



อุปกรณ์ใน ส่วนรับข้อมูล ยังมีอีกมากมายและยังมีเพิ่มตามขึ้นไปเรื่อยๆ ตามการพัฒนา   
                   
                    หน่วยส่งออก (Output Unit)  เป็นอุปกรณ์ที่ทำหน้าที่นำผลลัพธ์ที่ได้จากการทำงานของหน่วยประมวลผลกลางไปแปลงให้อยู่ในรูปแบบที่ผู้ใช้สามารถเข้าใจและนำไปใช้ประโยชน์ได้  อุปกรณ์ที่ทำหน้าที่เป็นหน่วยส่งออก มีดังนี้

                    1. จอภาพ (Monitor) ใช้แสดงข้อมูลต่างๆไม่ว่าจะเป็นตัวอักขระ ภาพนิ่ง และภาพเคลื่อนไหว จอภาพในปัจจุบันแสดงภาพด้วยจำนวนสีที่สูงมาก ทำให้ได้ภาพที่สวยงามใกล้เคียงกับสีของภาพจริง จอภาพสำหรับคอมพิวเตอร์มี 3 ประเภท ดังนี้

1.1  จอภาพซีอาร์ที (CRT) ใช้เทคโนโลยีของหลอดรังสีอิเล็กตรอน เช่นเดียวกับจอโทรทัศน์ในการทำให้เกิดจอภาพ ซึ่งปัจจุบันลดความนิยมลงไปแล้ว

                                คุณสมบัติของจอภาพซีอาร์ที (CRT)
- ขนาดของจอภาพ (Monitor)  การวัดขนาดของจอภาพจะใช้หลักเดียวกับการวัดขนาดของ
จอทีวีทั่วไป คือ การวัดในแนวทะแยงมุม (Diagonally) จอภาพยิ่งมีขนาดใหญ่ ยิ่งทำงานสะดวกมากขึ้นแต่ราคาก็จะสูงตามไปด้วย
- ความละเอียดของจอภาพ (Resolution) จำนวนของ Pixels ทั้งหมดที่ปรากฏบนจอภาพ
ตัวอย่างเช่น 640 x 480 หมายถึง 640 pixels แนวนอน และ 480  pixels แนวตั้ง
- อัตราการฉายภาพ (Refresh Rate) เป็นจำนวนรอบที่ปืนอิเล็กตรอนฉายแสงไปครบทั้งจอภาพใน 1 วินาที หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นอัตราการสะท้อนแสงบนจอภาพ  เพื่อทำให้ภาพคมชัด   อัตราการฉายภาพ (Refresh Rate) ใช้หน่วยเป็น Hertz (Hz) หรือ  Cycle Per Second  จอภาพที่ดีควรมี Refresh rate ระดับ 75 Hz หรือสูงกว่า

- ระยะห่างระหว่างจุดสี (Dot pitch) เป็นระยะห่างระหว่างจุดสีในหนึ่ง Pixel ในหนึ่ง pixel ประกอบด้วยจุดสี 3 จุดสี (dots) คือ  Red , Green , Blue  ถ้าจุดสี 3 จุดอยู่ไกลกัน จะเกิดความมัว (blur) จอภาพที่ดีควรมี dot pitch ไม่เกิน 0.28 มิลลิมิเตอร์ (millimeter)





1.2 จอภาพแอลซีดี (LCD)  เทคโนโลยีที่พัฒนามาใช้กับ LCD นั้นแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ

1.2.1 พาสสิพเมทริกซ์ (Passive Matrix) หรือที่เรียกว่า Super-Twisted Nematic (STN) เป็นเทคโนโลยีแบบเก่าที่ให้ความคมชัดและความสว่างน้อยกว่า มักจะใช้ในจอโทรศัพท์มือถือทั่วไปหรือจอเครื่อง Palm ขาวดำ  เป็นส่วนใหญ่

1.2.2 แอคทิพเมทริกซ์ (Active Matrix) หรือที่เรียกว่า Thin Film Transistors (TFT) สามารถแสดงภาพได้คมชัดและสว่างกว่าแบบแรก ใช้ในจอมอนิเตอร์หรือคอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊ก

คุณสมบัติที่ใช้ในการเปรียบเทียบ LCD Monitor

- รูปทรงของการแสดงผล หรือรูปทรงของจอ (Aspect Ratio) เช่น มาตรฐานจอภาพทั่วไปเป็น 4:3 คือ ด้านกว้าง 4 ต่อความสูง 3 ส่วน  แต่จอภาพแบบ Wide screen มีสัดส่วนเป็น 16 : 9
- ค่าความละเอียดการแสดงผล  (Resolution) ขึ้นอยู่กับขนาดที่เหมาะสม
- ค่าของมุมมอง (View Angle) เป็นค่าของมุมมองที่สามารถมองจอมอนิเตอร์เห็นชัดเจน ปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 120-140 องศา
- ค่าความสว่าง (Contrast Ratio)  ค่าความสว่างที่มีตัวเลขออกมาเป็น 250 : 1 หรือ 400 : 1 เป็นค่าความต่างที่มอนิเตอร์ตัวนั้นสามารถแสดงผลสีขาวที่สว่างที่สุด กับสีดำที่มืดที่สุด ค่ายิ่งมากก็ยิ่งดี เพราะจะชี้ให้เห็นว่าจอนั้นสามารถแสดงผลได้ชัดเจน
- เวลาที่ใช้ในการแสดงภาพ (Response Time)  เวลาอย่างน้อยที่สุดที่ใช้ในการแสดงภาพถ้าเวลาน้อยเท่าไรการแสดงภาพจะเร็วขึ้น




1.3 จอภาพโอแอลอีดี (OLED) เป็นเทคโนโลยีจอแสดงผลเปลี่ยนรูปโฉมโดยมีการพัฒนาให้มีขนาดบางลงถึงขนาดว่าสามารถม้วนพับเก็บไว้ได้ เนื่องจากไม่ต้องอาศัยการส่องแสงออกมาจากหลังภาพ ทั้งยังให้ภาพที่คมชัดกว่าใช้พลังงานน้อยลงมีอายุการใช้งานของแบตเตอรี่ยาวนานกว่า LCD Monitor ในขนาดเท่าๆ กันสูงถึง 40% ปัจจุบันได้มีการนำไปใช้ในรถยนต์และการบิน  อุปกรณ์อินเทอร์เน็ตเคลื่อนที่ คอมพิวเตอร์แบบพกพากล้อง วิดีโอ ระบบระบุตำแหน่ง จอโฆษณาสาธารณะ หรืออุปกรณ์เสริมการมอง เช่น การดำน้ำ  เกม และใช้ในวงการทหาร เป็นต้น




1.4 จอภาพพลาสมา (PDP) คือจอภาพที่ประกอบขึ้นจากแผ่นแก้วสองชุดวางชิดกัน ช่องว่างนี้จะถูกแบ่งออกเป็นเซลล์แสงกว้าง 100-200 ไมครอน มีชั้นผนัง (rib) กั้นไว้ โดยใช้ขั้วไฟฟ้าในแนวกระจกคอยควบคุมตำแหน่งของเซลล์เหล่านั้น แต่ละเซลล์จะบรรจุก๊าซที่ผสมระหว่างก๊าซซีนอนและก๊าซเฉื่อยอื่นๆ กลไกการทำงานของจอภาพพลาสมา จะมีการเรืองแสงขึ้นเองเหมือนการทำงานของหลอดไฟฟลูออเรสเซนต์ กล่าวคือ ก๊าซในเซลล์เหล่านี้เมื่อถูกกระตุ้นด้วยแรงดันไฟฟ้าจะเกิดการไอออนไนซ์ขึ้นทำให้ก๊าซแตกประจุและปล่อยแสงอุลตราไวโอเล็ตออกมา สารเรืองแสงจะดูดซับอุลตราไวโอเล็ตและสร้างสีที่มองเห็นได้ด้วยตาทำให้เรามองเห็นเป็นภาพได้

จอภาพพลาสมาแบบสีภาพจะถูกสร้างขึ้นจากจุดหลายๆ จุด แต่ละจุดเรียกว่า พิกเซล แต่ละพิกเซลจะประกอบขึ้นจากเซลล์สี 3 เซลล์  คือ แดง เขียว น้ำเงิน  จอภาพพลาสมาสามารถผลิตได้ขนาดใหญ่ ความละเอียดของคุณภาพสูง  น้ำหนักที่เบา และปลอดจากการรบกวนของสนามแม่เหล็ก เป็นต้น  ข้อเสียของจอภาพพลาสมาอยู่ที่หน้าจอกระจกของพลาสม่า ซึ่งทำให้สู้แสงสว่างได้น้อย และเกิดเงาสะท้อนได้ง่าย
             
                   2. เครื่องพิมพ์ (Printer) ใช้แสดงผลข้อมูลจากคอมพิวเตอร์ลงบนกระดาษหรือ  สื่อสิ่งพิมพ์ที่ผู้ใช้สามารถนำไปใช้งานต่อไปได้ ซึ่งโดยทั่วไปจะพิมพ์ลงบนกระดาษ



                     
                     3. เครื่องพลอตเตอร์ (Plotter)   เป็นอุปกรณ์ที่ใช้วาดหรือเขียนภาพสำหรับงานที่ต้องการความละเอียดสูงๆ เนื่องจากพลอตเตอร์จะใช้ปากกาในการวาดเส้นสายต่างๆ   ทำให้ได้เส้นที่ต่อเนื่องกันตลอด พลอตเตอร์นิยมใช้กับงานออกแบบทางสถาปัตยกรรมและวิศวกรรมที่ต้องการความสวยงามและความละเอียดสูง มีให้เลือกหลากหลายชนิด  โดยจะแตกต่างกันในด้านความเร็ว ขนาดกระดาษ และจำนวนปากกาที่ใช้เขียนมีราคาแพงกว่าเครื่องพิมพ์ธรรมดามาก


                     4. อุปกรณ์ฉายภาพ  (Projector) เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการนำเสนอข้อมูลต่างๆ โดยสามารถรองรับสัญญาณภาพจากคอมพิวเตอร์  เครื่องเล่นวีซีดี  เครื่องเล่นดีวีดี  และเครื่องกำเนิดภาพอื่นๆ




                    5. ลำโพง (speaker)   ทำหน้าที่แปลงสัญญาณไฟฟ้าให้แสดงผลในรูปของเสียง เช่น เสียงพูด  เสียงเพลง  เป็นต้น



                     พอร์ต (Port) เป็นส่วนของฮาร์ดแวร์ที่ใช้ในการเชื่อมต่ออุปกรณ์ต่างๆที่ใช้ในการรับข้อมูลหรือแสดงผลจากคอมพิวเตอร์ เช่น แป้นพิมพ์ เมาส์ จอภาพ เครื่องพิมพ์ สแกนเนอร์ เป็นต้น  พอร์ตมีอยู่หลายชนิด ได้แก่





-  พอร์ตอนุกรม (Serial port)  การทำงานจะมีการส่งสัญญาณข้อมูลไปทีละ 1 บิต  ความเร็วของ  การรับส่งข้อมูลจะขึ้นอยู่กับ ความถี่ที่ใช้ในการส่งผ่านข้อมูล  และขนาดความกว้างของช่องสัญญาณมาก   ในคอมพิวเตอร์จะเรียก Serial Port ว่า Communication Port  ซึ่งมี Com1, Com3 และ Com2, Com4 ซึ่งต้องเลือกใช้ระหว่าง Port Com1 หรือ Com2 และ ต้องเลือกใช้ระหว่าง Com3 หรือ Com4 ไม่สามารถใช้พร้อมกันได้ เพราะในทาง Physical Com1,3 Port คือพอร์ตเดียวกัน และ Com 2,4 คือ พอร์ตเดียวกัน  ใช้ในการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ภายนอกของคอมพิวเตอร์ เช่น   โมเด็ม  เมาส์  คีย์บอร์ด  เป็นต้น  โดยสำหรับพอร์ตที่เชื่อมต่อเมาส์  คีย์บอร์ด  เรียกว่า พีเอสทูพอร์ต (PS/2  Port)
- พอร์ตขนาน (Parallel port) การทำงานจะทำการรับหรือการส่งข้อมูลครั้งละหลายๆ บิต เป็นกลุ่มของข้อมูล เช่น ครั้งละ 8 บิต  ใช้ในการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ที่มีอัตราการรับส่งข้อมูลปานกลาง เช่น  เครื่องพิมพ์  เป็นต้น
- พอร์ตยูเอสบี (USB Port) เป็นเป็นพอร์ตที่มีความเร็วสูง โดยความเร็วประมาณ 12 Mbps   ซึ่งเร็วกว่าพอร์ตขนาน  รองรับอุปกรณ์ได้หลายชนิด และเสียบ-ถอดขณะเปิดเครื่องอยู่ได้  สามารถเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ต่อพ่วง เช่น เมาส์ คีย์บอร์ด เครื่องพิมพ์ ฮาร์ดดิสก์ สแกนเนอร์ กล้องถ่ายรูปดิจิตอล เครื่องเล่นเพลง MP3 และอุปกรณ์เครือข่าย  เป็นต้น
- ไฟร์ไวร์  (FireWire หรือ IEEE 1394)  เป็นพอร์ตที่ใช้สำหรับอุปกรณ์ต่อพ่วงอีกชนิดหนึ่ง         บางเมนบอร์ดจะมีพอร์ตไฟร์ไวร์  ซึ่งมีความเร็วสูง  มีอัตราการรับส่งข้อมูลที่สูงกว่า USB Port คือ 800 Mbps  ใช้สำหรับต่อพ่วงกับ สแกนเนอร์ กล้องดิจิตอล  กล้องดิจิตอลวิดีโอ ฮาร์ดดิสก์ที่มีพอร์ตแบบ Firewire     โดยส่วนใหญ่แล้วจะใช้ต่อกับ กล้องดิจิตอลวิดีโอ เนื่องจากสามารถควบคุมการทำงานของช่องผ่านเครื่องคอมพิวเตอร์ได้โดยตรง
- ดิสเพลย์พอร์ต (Display Port)  เป็นพอร์ตที่เชื่อมต่อระหว่างจอภาพกับการ์ดจอ  โดยที่การ์ดจอทำหน้าที่ประมวลผลข้อมูลภายในแบบดิจิตอลเพื่อเปลี่ยนเป็นสัญญาณภาพส่งออกไปที่จอภาพ
- อีเทอร์เน็ตพอร์ต (Ethernet )  เป็นพอร์ตที่เชื่อมต่อระหว่างการ์ดแลนกับเครือข่ายท้องถิ่น  โดยที่การ์ดแลนทำหน้าที่ควบคุมการรับ/ส่งข้อมูลระหว่างเครื่องคอมพิวเตอร์ภายในเครือข่าย
- พอร์ตจอยสติก (Joystick) เป็นพอร์ตที่เชื่อมต่อระหว่างจอยสติกกับพอร์ตจอยสติก  โดยที่จอยสติกเป็นอุปกรณ์ต่อพ่วงที่ทำหน้าที่เป็นคันโยก มีปุ่มบังคับที่ด้ามคันโยก  เพื่อควบคุมตำแหน่งบนจอภาพได้ทุกตำแหน่งและทุกทิศทาง ใช้เป็นอุปกรณ์เสริมในการเล่นเกมคอมพิวเตอร์
- พอร์ตมิดดี (MIDI) เป็นพอร์ตอนุกรมแบบพิเศษที่ต่อระหว่างการ์ดเสียงกับอุปกรณ์เครื่องเสียงต่างๆ โดยมีช่องสำหรับเสียบอุปกรณ์เสียง  ได้แก่
- สายเสียง-ช่อง Line-in (สีน้ำเงิน) สำหรับรับสัญญาณเสียงจากอุปกรณ์กำเนิดเสียงอื่นๆ เช่น เครื่องเล่นวิทยุ-เทป เครื่องเล่นซีดี เข้ามาที่การ์ดเพื่อใช้สัญญาณเสียง หรือแสดงผลที่เครื่องของเรา
- ช่อง Speaker (สีเขียว) สำหรับส่งสัญญาณเสียงจากการ์ดออกไปยังลำโพงปกติในแบบสเตอริโอ
- ช่องต่อ Microphone (สีชมพู) สำหรับรับสัญญาณเสียงแบบอนาล็อกจากไมโครโฟนมาที่ตัวการ์ด




























ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น